วันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

คู่มือการศึกษาในมหาวิชชาลัยภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่น




หลักสูตร ผู้ประกอบการสังคม เป็นหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต (ระดับปริญญาตรี) เจ้าของหลักสูตร คือ สถาบันอาศรมศิลป์ สถาบันอุดมศึกษาเอกชน ตั้งอยู่ถนนพระราม ๒ ซอย ๓๓ เขตบางขุนเทียน กทม.

มหาวิชชาลัยภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่น  ได้นำเอาหลักสูตรผู้ประกอบการสังคม ดังกล่าวข้างต้นมาจัดฝึกอบรมให้กับผู้นำชุมชนและอาสาสมัครทางสังคม โดยผู้เรียนทุกคนจะได้รับ “ปัญญาบัตร” เมื่อสำเร็จหลักสูตรในแต่ละภาคเรียนแล้ว

หากท่านใดที่ได้รับ “ปัญญาบัตร” แล้ว  มีความประสงค์จะต่อยอดเพื่อรับ “ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต” จากสถาบันอาศรมศิลป์  ทางมหาวิชชาลัยจะทำการเทียบโอนผลการเรียนของท่านไปยังสถาบันอาศรมศิลป์ ซึ่งท่านจะต้องเข้าไปศึกษาต่อที่สถาบันอาศรมศิลป์อีกไม่น้อยกว่า ๑ ปีการศึกษา หรือไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๔ ของหน่วยกิตทั้งหมด (ซึ่งมี ๑๓๕ หน่วยกิต, ๔๕ รายวิชา) จึงจะมีสิทธิ์ได้รับปริญญา

สถานภาพของผู้เรียนในหลักสูตรผู้ประกอบการสังคม จึงยังมิได้เป็นนักศึกษาของสถาบันอาศรมศิลป์ แต่เป็นนักศึกษาของมหาวิชชาลัยภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่น และเรียนเพื่อเก็บคะแนนเตรียมการเทียบโอนในระดับปริญญาต่อไป 

แนวทางการรับเทียบโอนของสถาบันอาศรมศิลป์ คือ

๑) นักศึกษามีโครงการประกอบการสังคมอย่างน้อย ๑ โครงการ และมีการปฏิบัติการจริงในโครงงานนั้น และ

๒) นักศึกษามีเอกสารแสดงผลการศึกษาในแต่ละรายวิชา ที่ถูกบูรณาการแล้ว


มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDF)
 

เป็นมูลนิธิที่ได้รับการจัดตั้งขึ้น เมื่อปี 2532  ภายหลังจากที่กองทุนพัฒนาท้องถิ่นไทย-แคนาดา (LADP) ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นด้วยความช่วยเหลือขององค์กรสนับสนุนความช่วยเหลือระหว่างประเทศของรัฐบาลแคนาดา ได้ปิดโครงการในประเทศไทยแล้ว   ผลจากการจัดตั้ง LADP ทำให้องค์กรพัฒนาเอกชนเติบโตเป็นอย่างมาก ก่อกำเนิดคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน มูลนิธิ สถาบันพัฒนาชุมชน ก่อให้เกิดกลุ่ม องค์กร กลุ่มปราชญ์ ภูมิปัญญาชาวบ้านที่ทำงานพัฒนาชุมชนและสังคมอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่แรกเริ่มก่อตั้งจนถึงปี พ.ศ. 2553 ท่าน ศ.ดร.นพ.ประเวศ วะสี ได้ทำหน้าที่เป็นประธานมูลนิธิมาโดยตลอด และมี น.พ.พลเดช ปิ่นประทีป เป็นเลขาธิการ  ในปลายปี พ.ศ. 2553 คุณเอนก   นาคะบุตร ได้รับหน้าที่เป็นประธานมูลนิธิ และมี น.พ.พลเดช ปิ่นประทีป ทำหน้าที่เป็นรองประธานมูลนิธิ และเลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI)



มหาวิชชาลัยภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่น (มภช.)


มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ได้จัดตั้ง “มหาวิชชาลัยภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่น” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นหน่วยงานจัดการศึกษาสำหรับผู้นำชุมชนและอาสาสมัครทางสังคม โดยการร่วมมือกับสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มีเจตนารมณ์เช่นเดียวกันนี้

“มหาวิชชาลัย” เป็นคำที่มาจากพระชาดก “พระมหาชนก” ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ได้ทรงแปลจากภาษาบาลี พระองค์ทรงใช้คำว่า “ปูทะเลย์มหาวิชชาลัย” ซึ่งในพระชาดกดังกล่าว พระมหาชนกทรงได้รับคำแนะนำให้จัดตั้งขึ้นเพื่อให้การศึกษาด้านสัมมาชีพแก่ประชาชน

มหาวิชชาลัยภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่น มีความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการศึกษาเรียนรู้เพื่อการพัฒนาผู้ประกอบการสังคมอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ โดยการจัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้เล็ก ๆ ในระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล ในรูปแบบของ “วิชชาลัย” เพื่อให้ผู้นำชุมชนและอาสาสมัครทางสังคม ได้เข้ารับการศึกษาอย่างทั่วถึง และไม่ต้องเดินทางไปยัง “ส่วนกลาง” อีกทั้งเพื่อให้การศึกษา เป็นการศึกษาเพื่อชุมชนท้องถิ่น และเป็นประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่นอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมหาวิชชาลัย ได้ริเริ่มโครงการโดยไม่ได้มุ่งหวังผลกำไร มหาวิชชาลัยไม่มีงบประมาณและกองทุนใดๆให้การสนับสนุน  แต่มหาวิชชาลัยมีความเชื่อมั่นว่า ทุนทางสังคมของสังคมไทย ที่ได้รับการสั่งสมมาเป็นเวลายาวนาน และขบวนการทางการพัฒนาสังคมที่ก่อรูปขึ้นโดยองค์กรพัฒนาเอกชนต่าง ๆ, โดยโครงการ LDAP, กองทุน SIF, สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บริษัทเอกชน และองค์กรภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นับเป็นทุนทางสังคมที่มีพลัง สามารถที่จะเชื่อมพลังของทุนทางสังคมเหล่านี้ มาสู่การสร้างสรรค์และพัฒนาภูมิปัญญาให้เกิดกับผู้นำชุมชนและอาสาสมัครทางสังคม เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนฐานราก โดยพื้นฐานความเชื่อว่า ความเข้มแข็งที่แท้และยั่งยืนนั้น ต้องเป็นความเข้มแข็งทางภูมิปัญญา เพราะคนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา และการพัฒนาคนนั้น ก็คือการยกระดับทางภูมิปัญญานั้นเอง

จากหลักคิดดังกล่าวข้างต้น มหาวิชชาลัย จึงได้นำเสนอ การจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษา โดยการใช้ทุนทางสังคม คือการรวมตัวกันของกลุ่มผู้มิจิตอาสา ทั้งผู้เรียน ผู้สอน และผู้สนับสนุน ในรูปแบบของการเป็น “วิชชาลัย”



มหาวิชชาลัยภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่น มิได้เป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา จึงไม่สามารถจะเปิดทำการเรียนการสอนในระดับปริญญาหรือระดับอุดมศึกษา ตามรูปแบบของกระทรวงศึกษาธิการ แต่มหาวิชชาลัยภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่น เป็นองค์กรหนึ่งภายใต้โครงสร้างของมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา โดยเป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาผู้นำชุมชนและอาสาสมัครทางสังคม ให้มีศักยภาพในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของตนเอง เพื่อนำไปสู่ความเป็นชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง และการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

มหาวิชชาลัยภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่น ได้เปิดการฝึกอบรมผู้นำชุมชนและอาสาสมัครทางสังคม ในหลักสูตร ผู้ประกอบการสังคม (Social Entrepreneur) ซึ่งหลักสูตรนี้ เป็นหลักสูตรการศึกษาระดับปริญญาตรี ที่กำลังจะเปิดทำการเรียนการสอนของสถาบันอาศรมศิลป์ อย่างเป็นทางการในปีการศึกษาแรกของปีพุทธศักราช 2555 ซึ่งปัจจุบัน (เดือนธันวาคม 2554) หลักสูตรนี้ อยู่ระหว่างการเสนอขอการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ โดยสภาสถาบันได้อนุมัติหลักสูตรแล้ว เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2554

เมื่อสภาสถาบันอนุมัติหลักสูตรแล้ว สถาบันก็จะสามารถเปิดการเรียนการสอนได้ และอนุมัติปริญญาได้ เพียงแต่ต้องได้รับการรับรองจากสำนักงานการอุดมศึกษา(สกอ.)แล้ว จึงจะส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) ตีค่าเงินเดือน สำหรับผู้ที่ประสงค์จะใช้วุฒิการศึกษาเพื่อการไปสมัครงานในภาคราชการ

มหาวิชชาลัยภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่น จะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานฝึกอบรมผู้นำชุมชนและอาสาสมัครทางสังคม เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับผู้ที่สนใจจะสมัครเข้าเป็นนักศึกษา ตามหลักสูตรผู้ประกอบการสังคมของสถาบันสถาบันอาศรมศิลป์ โดยที่ผู้เข้าอบรมที่ประสงค์จะรับปริญญาบัตรในอนาคต จะต้องสมัครเข้าเป็นนักศึกษาของสถาบันอาศรมศิลป์ และเทียบโอนรายวิชาที่เรียนผ่านแล้วกับสถาบันต่อไป

การดำเนินการจัดการเรียนรู้ของมหาวิชชาลัย เป็นความประสงค์ที่จะให้เป็น “ทางเลือก” ของการจัดการศึกษา ที่จะให้พ้นจากกรอบของกระทรวงศึกษาธิการ และทั้งยังจะเป็นการนำร่องของการปฏิรูปการศึกษาเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ซึ่งกำลังจะเข้าไปสู่การเป็นชุมชนไร้พรมแดน ในการเปิดเสรีของประเทศในกลุ่มอาเซียนในปี พ.ศ. 2558 นี้



เจตนารมณ์ของมหาวิชชาลัย

มุ่งการสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้นำชุมชน และอาสาสมัครทางสังคม ที่เป็นรากฐานของชุมชนทั้งประเทศ โดยเชื่อว่าชุมชนจะเข้มแข็ง และจัดการตนเองได้นั้น  ต้องมาจากผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง และความเข้มแข็งของผู้นำ ต้องมาจากความเข้มแข็งทางปัญญา กล่าวได้ว่ามุ่งให้ผู้สำเร็จการศึกษา “มีรายได้จากสัมมาชีพที่เกื้อกูลสังคม และมีจิตอาสา”





สำนักงานมหาวิชชาลัยภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่น
            129/2 ซอยวิภาวดี 18 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
โทร. 02 6900145 (ที่ตั้งสำนักงาน ด้านหลังสำนักงานใหญ่ บมจ.การบินไทย)
ติดต่อรายละเอียดเพิ่มเติมที่  ดร.ศักดิ์ ประสานดี  e-mail : sakprasandee@gmail.com   โทร 081 300 6188



สถาบันอาศรมศิลป์ (อ.ศ.ศ.)

            สถาบันอาศรมศิลป์ เป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาเอกชน ที่ไม่แสวงหากำไร ภายใต้มูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ โรงเรียนวิถีพุทธ (เจ้าของโรงเรียนรุ่งอรุณ – โรงเรียนที่มีการเรียนการสอนแบบทางเลือก) สถาบัน ได้ก่อตั้งเมื่อปี 2549

สถาบันอาศรมศิลป์ เกิดจากประสบการณ์และแนวคิดในการจัดการศึกษาทางเลือกใหม่ให้กับสังคมไทย ในนามของโรงเรียนรุ่งอรุณ ซึ่งเป็นโรงเรียนวิถีพุทธที่มีประสบการณ์ในการเรียนการสอนมาร่วม ๑๐ ปี จนเป็นสัญลักษณ์ของความสำเร็จระดับหนึ่งในการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการแห่งชีวิต ที่มุ่งเน้นการผสานกลมกลืนกัน ระหว่างศิลปะกับวิทยาการ ประการหนึ่ง และเป็นความกลมกลืนกันระหว่างวิชาการกับการเรียนรู้ร่วมกันโดยผ่านวิถีของชุมชน อีกประการหนึ่ง

ปราชญ์ ผู้รู้ นักการศึกษา ศิลปิน สถาปนิกและนักวิชาการที่มีประสบการณ์ตระหนักถึงปัญหาของการศึกษาของไทย ที่ใช้วิชาเป็นตัวตั้งมาเป็นเวลานาน จนทำให้ผู้เรียนแปลกแยกออกจากสิ่งแวดล้อมและสังคมมากยิ่งขึ้น ผู้รู้เหล่านี้จึงปรึกษาหารือกันถึงการก่อตั้งสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นสถาบันอุดมศึกษาทางเลือก เป็นการศึกษาแบบบูรณาการชีวิตในขั้นอุดมศึกษา ที่จะนำไปสู่ความเป็นสถาบันการพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้สูงสุดของมนุษย์  ด้วยความมุ่งหวังที่จะสร้างสรรค์ชุมชนแห่งการเรียนรู้ใหม่ที่ผสานภูมิปัญญาดั้งเดิมเข้ากับองค์ความรู้ร่วมสมัย ภายใต้บรรยากาศการเรียนรู้ที่เป็นมิตร และความเอาใจใส่ดูแลนักศึกษาอย่างใกล้ชิดจากคณาจารย์และผู้เชี่ยวชาญพิเศษในด้านต่างๆ โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการเป็นสถาบันอุดมศึกษาทางเลือกที่เข้าถึงวิชาการและวิชาชีวิต

อนึ่ง สถาบันอาศรมศิลป์ เป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไร (Not-for-Profit Organization) ได้รับการสนับสนุนด้านบุคลากร เงินทุน ที่ดิน จากมูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ มูลนิธิสานแสงอรุณ และมูลนิธิญมาลุดดีน สถาบันได้รับอนุญาตจัดตั้งเป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนระดับบัณฑิตศึกษาจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๙

สถาบันอาศรมศิลป์ จัดการเรียนการสอนในระดับบัณฑิตศึกษา จำนวน ๓ หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม หลักสูตร ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการศึกษาแบบองค์รวม และหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต วิชาชีพครู ด้วยกระบวนการสำคัญ ๓ ด้าน คือ

๑) การเรียนรู้อย่างลึกซึ้ง (Deep Learning) เพื่อให้นักศึกษาเป็นผู้เรียนรู้ด้วยตนเอง (Self-Directed Learning) จนเข้าถึงคุณค่าของสิ่งแวดล้อมต่างๆ ได้

๒) การเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง (Learning by doing) จากการเรียนรู้บนการ งานจริง (Work-Based Learning) ผ่านโครงงานวิจัยและบริการวิชาการต่างๆ ของสถาบันฯ

๓) การเรียนรู้จากการสื่อสาร (Communication based learning) เช่น การฟังอย่าง ลึกซึ้ง การสื่อสารอย่างเท่าเทียม เคารพความเป็นมนุษย์

จากกระบวนการดังกล่าว จะทำให้นักศึกษามีทักษะและทัศนคติในการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง อันจะนำมาซึ่งการสร้างสรรค์พัฒนาคุณภาพของบุคคล และสังคมไปพร้อมกัน

            สถาบันอาศรมศิลป์ มีจุดมุ่งหมายในการจัดการศึกษาในรูปแบบ “ชุมชนแห่งการเรียนรู้” ที่เน้นการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนและผู้สอนในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และกับเครือข่าย อันเป็นรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่เอื้อต่อความเจริญงอกงามของชีวิตคือการเข้าถึงคุณค่า ความดี ความงาม และความจริงด้วยปัญญา และเป็นแหล่งบุคคลแห่งการเรียนรู้ไปสู่สังคม เพื่อนำกระแสการเปลี่ยนแปลงสู่กระบวนทัศน์ใหม่ โดยอาศัยการขยายต่อยอดองค์ความรู้ของตนกับผู้อื่น



คณะกรรมการ สภาสถาบันอาศรมศิลป์
นายกสภาสถาบันอาศรมศิลป์                   ศาสตราจารย์ระพี สาคริก
กรรมการสภาสถาบันผู้ทรงคุณวุฒิ
         ศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช (อุปนายก)
          ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. อารี สัณหฉวี
          นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา
          นายเมธี ภมรานนท์
          ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย
          ดร.สิริชัยชาญ ฟักจำรูญ
          รองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม
          ศาสตราจารย์กิตติคุณ ผุสดี ทิพทัส
          ศาสตราจารย์บุญธรรม กิจปรีดาบริสุทธิ์

กรรมการที่ปรึกษา
          พระไพศาล วิสาโล
          ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ อารี วัลยะเสวี
          ศาสตราจารย์เกียรติคุณ อรศิริ ปาณินท์
          นายบันเทิง ตันติวิท
          นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
          คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา
อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์                      รองศาสตราจารย์ ดร.วีระ สัจกุล          
เลขานุการสภาสถาบันอาศรมศิลป์             นายธีรพล นิยม


สถาบันอาศรมศิลป์ เป็นเจ้าของหลักสูตร ผู้ประกอบการสังคม โดยสภาวิชาการอนุมัติหลักสูตรนี้ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2554 และสภาสถาบันอนุมัติหลักสูตรเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2554   ปัจจุบันอยู่ระหว่างขอการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ

หลักสูตร ผู้ประกอบการสังคม คาดว่าจะเปิดการเรียนการสอนอย่างเป็นทางการ ในปีการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2555 (ประมาณเดือน มิ.ย.2555)


หลักสูตร ผู้ประกอบการสังคม



ผู้ประกอบการสังคม หมายถึง บุคคลผู้มีความสามารถในการประกอบสัมมาชีพที่เกื้อกูลชุมชน มีรายได้ และมีจิตอาสาในการทำงานเพื่อชุมชนและสังคม
ผู้ประกอบการสังคม มีความสามารถในการรวบรวมทรัพยากรชุมชน ทุนทางสังคม และภูมิปัญญาของชุมชน เพื่อทำเป็นสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่เอื้อต่อชุมชนของตนเอง ส่งผลต่อการสร้างชุมชนให้เข้มแข็งและเป็นชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง
ผู้ประกอบการสังคม เป็นการรวมผู้ที่ทำวิสาหกิจชุมชน กับผู้ที่เป็นแกนนำการเปลี่ยนของชุมชน ให้เป็นคนคนเดียวกัน  ทั้งนี้ด้วยแนวคิดว่า ผู้ที่ประกอบวิสาหกิจชุมชน ต้องสนใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชุมชน  คนที่เป็นแกนนำการเปลี่ยนแปลงชุมชน ควรต้องมีรายได้จากการประกอบอาชีพด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาชีพที่เอื้อต่ออการพัฒนาชุมชนและสังคม
หลักสูตรผู้ประกอบการสังคม มีทั้งหมด 135 หน่วยกิต 45 วิชา แบ่งออกเป็น 9 โมดูล (กลุ่มวิชาบูรณาการ) และจัดแบ่งการศึกษาออกเป็น 8 ภาคการศึกษา  ภาคการศึกษาละ 4 เดือน




แผนการศึกษา

แบ่งการเรียนออกเป็น ๙ โมดูล แต่ละโมดูล จะเรียน ๑ ภาคการเรียน ยกเว้นโมดูลที่ ๙ จะให้เรียนตั้งแต่ภาคการเรียนที่ ๖ ชื่อแต่ละโมดูลทั้ง 9 โมดูล ดังนี้
1)      การวิเคราะห์ชุมชนและทุนทางสังคม
2)      การจัดทำแผนพัฒนาชุมชน
3)       ระบบสังคมและโลกาภิวัตน์
4)      การจัดกระบวนการเรียนรู้ 
5)      การพัฒนาตนเอง
6)      ความรู้และทักษะการประกอบการทางสังคม
7)      สถาบันและการปกครองท้องถิ่น
8)      ความรู้และทักษะการสื่อสารทางสังคม  
9)      การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์การทำงานจริง


รายละเอียดแต่ละโมดูล แต่ละโมดูลจะมีรายวิชาย่อยดังนี้
1.       การวิเคราะห์ชุมชนและทุนทางสังคม 
-       ปัญหาชุมชนไทยกับการพัฒนา                               - เครือข่ายชุมชนและการจัดการ
-       วัฒนธรรมชุมชนและทุนทางสังคม                           - กองทุนและสวัสดิการชุมชน
-       การจัดทำแผนที่ชุมชนเพื่อการพัฒนา
2.       ความรู้และทักษะการประกอบการทางสังคม
-       แนวคิดผู้ประกอบการสังคม                                - การพัฒนาทักษะผู้ประกอบการสังคม
-       สหกรณ์กับการพัฒนา                                       - สัมมนาประเด็นผู้ประกอบการสังคม
-       กรณีศึกษาการเป็นผู้ประกอบการสังคมในชุมชน        - นวัตกรรมการประกอบการสังคม
-       หลักบัญชีเบื้องต้น
3.       การจัดทำแผนพัฒนาชุมชน
-       กระบวนทัศน์การพัฒนา                                     - การจัดทำแผนแม่บทชุมชน
-       นโยบายสาธารณะ                                             - วิสาหกิจชุมชน
-       การจัดทำโครงการและบริหารโครงการ                    - ภาวะผู้นำชุมชนและการพัฒนาทีมงาน
4.       ระบบสังคมและโลกาภิวัตน์
-       ธรรมชาติศึกษา การเปลี่ยนแปลงและการธำรงรักษา    - สิ่งแวดล้อม ทรัพยากร และวิกฤติโลก
-       สังคม เศรษฐกิจ และการเมืองการปกครองไทย         - เศรษฐกิจชุมชน 
-       สังคมชนบทและสังคมเมือง
5.       การจัดกระบวนการเรียนรู้ 
-       วิทยากรกระบวนการ                                             - การจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง
-       การผลิตสื่อชุมชน                                                 - ข้อมูลทางสถิติและสารสนเทศชุมชน
-       การจัดการความขัดแย้ง
6.       การพัฒนาตนเอง
-       มงคลชีวิต                                                            - จิตปัญญาสิกขา
-       วิถีสุขภาวะแบบองค์รวม                                        - พุทธเศรษฐศาสตร์และเศรษฐกิจพอเพียง
-       ความรู้พื้นฐานทางปรัชญา
7.       สถาบันและการปกครองท้องถิ่น
-       ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมาย                            
-       หลักการปกครองท้องถิ่น
-       กระบวนการมีส่วนร่วมของสังคมเพื่อการพัฒนา
-       รัฐธรรมนูญ สถาบันการเมือง และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับชุมชน
8.       ความรู้และทักษะการสื่อสารทางสังคม  
-       ทักษะการฟัง การอ่านเอาเรื่อง การพูดและการเขียนภาษาไทย
-       คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาชุมชน 
-       ทักษะการสื่อสารสำหรับผู้นำในวิชาชีพ                   
-       การใช้ภาษาอังกฤษ ๑                                          
-       การใช้ภาษาอังกฤษ ๒
9.       การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์การทำงานจริง
-       ฝึกปฏิบัติการเป็นผู้ประกอบการ 1 (เรียนเทอมที่ 6)
-       ฝึกปฏิบัติการเป็นผู้ประกอบการ 2 (เรียนเทอมที่ 7)   
-       ฝึกปฏิบัติการเป็นผู้ประกอบการ 3 (เรียนเทอมที่ 8)





แนวการจัดการศึกษาแบบบูรณาการ



แต่ละภาคเรียน จัดการศึกษาดังนี้
1.      ขั้นที่ ๑  ให้นักศึกษาเข้าใจสถานการณ์โดยรวม
2.      ขั้นที่ ๒ ให้นักศึกษาเข้าใจหลักคิดตามรายวิชา
3.      ขั้นที่ ๓  ศึกษาดูงานชุมชน ครั้งที่ ๑ และนำเสนอผลการศึกษาดูงาน
4.      ขั้นที่ ๔ ศึกษาชุมชนในพื้นที่ปฏิบัติการของตนเอง และนำเสนอ
5.      ขั้นที่ ๕ ศึกษาดูงานชุมชน ครั้งที่ ๒ และนำเสนอผลการศึกษาดูงาน
6.      ขั้นที่ ๖ สัมมนาบูรณาการทุกวิชา
7.      ขั้นที่ ๗ ประเมินผล สะท้อนการเรียนรู้





การศึกษาและการสอบ


การเรียน
1.    แนวทางหลักของการเรียนรู้ก็คือ การศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเอง ตามโจทย์ของแต่ละวิชา ที่ศิลปาจารย์มอบหมาย โดยนักศึกษาต้องเขียนเป็นรายงานเพื่อนำส่งและการอภิปรายในการสัมมนา
2.    การเรียนการสอนในมหาวิชชาลัย เน้นที่ภาคประสบการณ์ ไม่เน้นภาคทฤษฎี โดยใช้ชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้ (ไม่ใช้ห้องเรียน ไม่ใช้ตำรา และไม่ใช่อาจารย์เป็นฐานการเรียนรู้) กล่าวคือ ผู้เรียนต้องเอาข้อมูลจากชุมชนเสนอและอภิปรายกัน เช่น วิชาปัญหาชุมชนกับการพัฒนา ผู้เรียนต้องมานำเสนอปัญหาของชุมชนของตนเอง (20 คะแนน)  ต้องส่งเอกสารรายงาน (80 คะแนน) หากมีการบ้านอื่น ๆ แต่ละครั้ง ก็เฉลี่ยคะแนนคามความเหมาะสม ทั้งนี้เนื่องจากว่า ผู้เรียนของมหาวิชชาลัย มิได้เรียนเพื่อมุ่งไปสอบบรรจุหรือแข่งขันเข้าทำงาน แต่เพื่อเพิ่มศักยภาพการทำงานทางสังคม
3.    การสอบนั้น ผู้สอบต้องทำเป็นเอกสารมานำเสนอหน้าชั้นเรียน ใช้เวลาในการนำเสนอประมาณ 20 นาที หลังจากนั้น จะเป็นการอภิปรายกันของผู้เรียนและศิลปาจารย์ของชั้นเรียน
4.         นักศึกษาต้องส่งเอกสารรายงาน หลังจากการนำเสนอในชั้นเรียนแล้ว ก่อนปิดภาคเรียน
5.         บทบาทของศิลปาจารย์ คือ จัดกระบวนการ อภิปราย ตั้งคำถาม วิเคราะห์ สังเคราะห์ เชื่อมโยง และสรุปความรู้สำคัญ คำถามสำคัญ ของศิลปาจารย์ และนักศึกษาต้องฝึกตอบ และทุกการจบวิชา ก็คือ ได้ข้อคิดอะไร  เรียนรู้อะไร” “อะไรคือความรู้สำคัญ  เพื่อสร้างการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน
6.         การศึกษาในแต่ละภาคเรียน จะยึดเอาโมดูลที่ทางหลักสูตรได้จัดไว้เป็นหลัก เรียงลำดับกันไป
7.         หลักสูตรอาจจะจัดให้มีการสอบในพื้นที่หรือในท้องถิ่นก็ได้ โดยอาจจะมีศิลปาจารย์ของท้องถิ่น ร่วมเป็นคณะกรรมการทำการสอบนักศึกษา
8.         สำหรับบางวิชาที่เป็นทักษะเฉพาะ หลักสูตรจะจัดให้นักศึกษาเข้าชั้นเรียน หรือการลงมือปฏิบัติการ โดยไม่ใช้การเขียนรายงาน
9.         ผู้สำเร็จการศึกษาแต่ละโมดูลจะได้รับมอบปัญญาบัตร 



ศิลปาจารย์ประจำวิชชาลัย  
10.     เรียนเชิญผู้ที่เป็นจิตอาสา ที่อาสาเข้ามาทำงานโดยไม่มีค่าตอบแทน เป็นคนที่ตระหนักในความสำคัญของการพัฒนาผู้นำ มาสอนเป็นวิทยาทาน เราจะเรียกว่า “ศิลปาจารย์ประจำศูนย์” ควรมีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป หากไม่มีวุฒิปริญญาตรี แต่เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ มีผลงาน เป็นปราชญ์ชุมชน หรือเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน จะขอให้เป็น   “ศิลปาจารย์พิเศษ”  ประจำศูนย์ ที่จะร่วมบรรยาย และจัดกระบวนการเรียนรู้เป็นครั้งคราว
11.     ศิลปาจารย์จะมีหน้าที่หลักในการจัดกระบวนการเรียนรู้ จึงแตกต่างจากคำว่า ผู้สั่งสอน หรือ ผู้บรรยาย ศิลปาจารย์จะมีหน้าที่สรุปหลักคิด หลักการเบื้องต้น ตามรายวิชา จากนั้นจะมอบหมายให้ผู้ศึกษา ไปวิเคราะห์ข้อมูล ถอดบทเรียน จัดการความรู้ของชุมชน เพื่อมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  ศิลปาจารย์ก็จะทำหน้าที่จัดกระบวนการ ตั้งถาม ตั้งประเด็น สังเคราะห์ และสรุปการอภิปราย
12.     เช่น วิชาปัญหาชุมชนกับการพัฒนา ผู้เรียนต้องไปเก็บข้อมูลในชุมชน เรื่องปัญหาชุมชนของชุมชนของผู้เรียน, วิชาสวัสดิการชุมชน ผู้เรียนจะต้องไปเก็บข้อมูลกิจกรรมองค์กรด้านสวัสดิการที่มีอยู่ในชุมชน มาแลกเปลี่ยนกันในห้องเรียนเป็นต้น



ค่าใช้จ่ายในการเรียน
13.     มหาวิชชาลัยเปิดรับผู้เรียนโดยไม่เก็บค่าลงทะเบียนเรียน (ผู้เรียนทุกคน ถือว่าเป็นผู้รับทุนการเรียนจากวิชชาลัย ผู้บริหารหลักสูตร และศิลปาจารย์ทุกคน)  ผู้เรียนจึงเป็นผู้ที่วิชชาลัยได้พิจารณาแล้วว่า มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะเข้าเรียนได้  เช่น ความมีจิตอาสา มีความมุ่งมั่นพัฒนาชุมชน และอาจจะยกเลิกการให้ทุนเพื่อศึกษาต่อก็ได้ หากไม่อยู่ในคุณสมบัติที่วิชชาลัยจะรับได้
14.     ผู้เรียน ไม่ได้ชำระเงินเป็นค่าเล่าเรียน จึงไม่ใช่ลูกค้า มีฐานะเป็นผู้รับทุน จึงต้องปฏิบัติตนในฐานะผู้รับทุนที่ดี และรับเอาวิญญาณแห่งจิตอาสาของผู้ให้ทุน
15.     แม้ว่าจะไม่ได้เก็บเงินเป็นค่าเล่าเรียนจากผู้เรียน แต่ผู้เรียนควรจะร่วมบริจาคเป็นค่าเครื่องดื่ม กาแฟ โอวัลติน อาหารว่าง รวมทั้งเป็นค่าถ่ายเอกสารการเรียน ค่าสื่อดีวีดี ค่าเอกสารการสอน โดยการจัดตั้งเป็นกองทุนประจำวิชชาลัย
16.     มหาวิชชาลัย อาจจะขอรับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากหน่วยราชการ องค์กรเอกชน องค์การมหาชน หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือจากประชาชนทั่วไป เพื่อจัดตั้งเป็นกองทุนของวิชชาลัยได้  แต่ต้องไม่ทำให้เป็นครอบงำ และมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจใด ๆ ของวิชชาลัย




การเรียนรู้ของนักศึกษา และการเขียนรายงาน
1)      ปัญหาสำคัญอย่างประการหนึ่งของเราก็คือ นศ.เขียนรายงานกว้างเกินไป เขียนแบบแนวความคิด และก็ใช้การก็อปปี้จากอินเตอร์เน็ตเป็นหลัก เอาข้อมูลที่ยังไม่มีการสังเคราะห์มาใส่ในรายงาน เช่น เอารายงานการประชุมของกลุ่ม เอางบดุลการเงินกองทุนหมู่บ้านมาใส่ เอากฎหมายมาใส่ลงไป  นศ.พยายามจะเอาข้อมูลเยอะๆ มาใส่ให้ดูหนา  ๆ บางทีก็หนาถึง 50 หน้ากระดาษ
เราต้องการเนื้อ ๆ ไม่จำเป็นต้องยาว ต้องคิดว่าการเขียนรายงาน เหมือนการไปนั่งทำข้อสอบในห้องสอบ มาส่งอาจารย์ จะไปเขียนสเปะสปะไม่ได้  ไม่มีเวลาไปเขียนอย่างนั้น เอาสาระ ตรงประเด็นเป็นหลัก มันอาจจะยาวประมาณ 5 – 10 หน้า หรือยาวกว่านี้ โดยมีภาพประกอบรายงานด้วย
ข้อมูลที่จะมาเขียนในรายงาน ต้องยึดหลัก “ชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้”  หมายถึงชุมชนที่เป็นภูมิลำเนาของนักศึกษาแต่ละคนนั่นเอง  ต้องเป็นเรื่องราวของชุมชนของเขา เช่น วิชาปัญหาชุมชนกับการพัฒนา ก็ต้องเป็นปัญหาของชุมชนของเขา, วิชาเครือข่ายชุมชน ก็ต้องเป็นกรณีศึกษาเครือข่ายองค์กรที่อยู่ในชุมชน/หมู่บ้านของเขา หรือกลุ่มองค์กรในชุมชน/หมู่บ้านของเขาเป็นสมาชิก, วิชาสวัสดิการชุมชน ก็ต้องเป็นกรณีศึกษากลุ่ม/องค์กรสวัสดิการ ที่มีอยู่ในชุมชนของเขา, วิชาวิสาหกิจชุมชน ก็ต้องเป็นกรณีศึกษากลุ่มวิสาหกิจชุมชนในชุมชน/หมู่บ้านของเรา, วิชาสื่อชุมชน ก็ต้องเป็นกรณีศึกษาสื่อชุมชนที่มีอยู่ในชุมชน/หมู่บ้านของเขา
ทุกวิชา นศ.ต้องท่องคาถาเลยว่า ชุมชนของเรา, หมู่บ้านของเรา เราจะวิเคราะห์ชุมชนของเรา หมู่บ้านของเราทุก ๆ วิชา วิเคราะห์แล้ว วิเคราะห์อีก, วิชาแล้ว วิชาเล่า, วิชานี้บ้าง วิชาโน้นบ้าง, จนในที่สุดแล้ว 45 วิชา 4 ปี เราจะต้องทะลุปรุโปร่งในชุมชนหรือในหมู่บ้านของเรา
ด้วยวิธีการนี้ นศ.ของเราบางคนจึงไม่อาจจะไปลอกข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตมาทำรายงาน ไปเอาประเพณีของภาคเหนือมาทำรายงานเรื่องประเพณีกับการพัฒนา ทั้งที่ประเพณีนั้น ไม่ได้มีในชุมชนของเราเลย ผู้รายงานอยู่ภาคใต้, ปัญหาชุมชนก็ไปเอาปัญหาของชุมชนกรุงเทพฯ ทั้งที่เราอยู่ต่างจังหวัด ไม่มีปัญหาอย่างว่าแต่ประการใดเลย
2)      ในหมู่บ้านหรือในชุมชนที่นักศึกษา ไม่มีกลุ่ม องค์กรที่ตรงตามรายวิชา  มีปัญหาเท่าที่เคยได้รับการสะท้อนมาก็คือ ในชุมชนของ นศ.บางคน ไม่มีกลุ่ม/องค์กรตรงตามรายวิชา เช่น ไม่มีกลุ่มสวัสดิการเลย เราจะทำรายงานวิชาสวัสดิการชุมชน ก็เลยหาตัวอย่างในชุมชนไม่ได้ ในกรณีนี้ เราอนุญาตให้ไปศึกษาข้อมูลจากชุมชนอื่นๆ ที่อยู่ใกล้กัน อยู่ตำบลเดียวกัน อำเภอเดียวกัน แต่กลุ่มที่เราไปเก็บข้อมูลมาทำรายงานนั้น ก็ควรจะต้องเป็นบทเรียนที่ดีพอสมควร ควรเป็นตัวอย่างที่ดีได้ และต้องอธิบายด้วยว่า  กลุ่ม/องค์กรที่เราไปศึกษาเป็นกรณีศึกษานั้น หากจะมีการจัดตั้งจริงในชุมชนของเรา จะมีแนวทางอย่างไร
คำถามอีกประการหนึ่งก็คือ ถ้าจำเป็นต้องไปศึกษาหรือเก็บข้อมูลนอกพื้นที่ ขอทำรายงานแบบกลุ่มได้ไหม ไม่เป็นรายงานเดี่ยว ความเห็นผมนั้น ผมยอมรับได้ให้เป็นรายงานกลุ่ม แต่ละกลุ่มควรมีสมาชิก 3 – 5 คน ไม่ควรเกินนี้  เราพบว่ามีสมาชิกเยอะ เช่นเป็นสิบคน เอาเข้าจริงก็ทำงานไม่กี่คน  นับว่าเสียประโยชน์มาก คือเราควรจะได้ข้อมูลมาแลกเปลี่ยนกันหลายๆกลุ่มสักหน่อย  เนื่องจากไปรวมกลุ่มกันเยอะเกินไป
การนำเสนอในชั้นเรียน   เมื่อถึงตอนรายงาน หากเป็นรายงานเดี่ยว ต้องเสนออยู่แล้ว แต่หากเป็นรายงานกลุ่ม ทั้งนี้เนื่องจากว่า ในชุมชนเดียวกันมีนักศึกษามาเรียนกันหลายคน เราจึงอนุญาตให้เป็นรายงานของกลุ่มได้ แต่ในรายงานก็ต้องบอกบทบาทหน้าที่ของแต่ละคน เช่นบทบาทหน้าที่ในด้านการพัฒนาชุมชน มีตำแหน่งคนละตำแหน่ง ก็ต้องทำคนละหน้าที่ และในระหว่างการนำเสนอ ก็ต้องไปช่วยกันพูดหน้าห้องทุกคน
3)      การรวมกลุ่มทำรายงาน  ในหลักการ ต้องเป็นรายงานเดี่ยว แต่เรามีประเด็นว่า  บางคนที่มาเรียนเป็นสามี ภรรยากัน จะให้แยกเป็นสองรายงานก็ต้องลอกกันอยู่ดี ให้เป็นรายงานกลุ่มสองคน เป็นชื่อร่วม และช่วยกันทำงาน ปรึกษาหารือ พูดคุย แลกเปลี่ยน ผมคิดว่าจะมีประโยชน์มากกว่าแยกรายงานกัน 
หรือบางที พบว่าผู้เรียนสองคนหรือมากกว่านั้น อยู่ในชุมชนเดียวกัน หมู่บ้านเดียวกัน หรือซอยเดียวกัน  เมื่อเราตั้งใจจะให้ “ชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้”  ก็ต้องเป็นข้อมูลชุดเดียวกัน เพราะฉะนั้น ข้อเสนอผมก็คือ หากผู้เรียนอยู่หมู่บ้านเดียวกัน ชุมชนเดียวกัน เราอนุญาตให้เป็นรายงานกลุ่มได้ ยกเว้นบางวิชาเช่นวิชาวิทยากรกระบวนการ แต่ละคนต้องมาฝึกจัดกระบวนการ หรือมาฝึกเป็นวิทยากรหน้าเวที  แม้จะฝึกเป็นกลุ่ม แต่ละคนก็ต้องมายืนฝึกเหมือนกัน ดด
4)      เวลาเรียน  ควรจะบังคับกันแค่ไหน  นี้เป็นคำถามสำคัญอีกคำถามหนึ่ง  ความจริงเวลาเรียนเป็นการสะท้อนถึงความสนใจ การให้ความสำคัญ อย่างน้อยผู้เรียนควรจะมีเวลาไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของเวลาเรียนทั้งหมด  โดยข้อเท็จจริงแล้ว ผมเชื่อว่าลูกศิษย์ของเราจำนวนหนึ่ง มีความรู้เกินกว่าปริญญาตรีอยู่แล้ว เพียงแต่เราต้องการให้พวกเขามาจัดระบบแนวคิด ถอดบทเรียนการทำงานของพวกเขา และเข้าสู่พิธิกรรมการศึกษาเท่านั้น
 

เนื้อหาในรายงาน
เนื้อหาในรายงานเป็นเนื้อหาหลักของการเรียนรู้  ขอใช้คำว่า “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ตามแนวทางของในหลวงด้วยซ้ำ
ทุกวิชา นศ.ต้องใช้ 3 ข้อนี้
คำว่า เข้าใจ หมายถึง ว่าเข้าใจความหมาย แนวคิด หลักการ ของวิชานั้น รู้จักตัวอย่างจริงของเรื่องนั้น เช่น วิชา วิสาหกิจชุมชน ต้องรู้จักนิยาม ความหมาย แนวคิด หลักการของวิสาหกิจชุมชน  และหาตัวอย่างที่จะเขียนรายงานว่า กลุ่ม องค์กรใดในชุมชน/หมู่บ้าน ที่เป็นกลุ่ม องค์กร วิสาหกิจชุมชน การหาตัวอย่างไม่ถูกต้อง ถือว่าไม่เข้าใจ คำว่าวิทยากรกระบวนการ เข้าใจก็คือ ก็ต้องเข้าใจนิยาม แนวคิด หลักการของวิทยากรกระบวนการ และเข้าใจก็คือฝึกทำได้อย่างถูกต้อง
คำว่า เข้าถึง  หมายถึงว่า รู้อย่างรอบด้าน รู้ทุกแง่ทุกมุม ตัวอย่างเช่น กรณีศึกษาเรื่องนั้น ๆ ต้องรู้อย่างละเอียดลออ เราเรียนวิชาวิสาหกิจชุมชน เราก็ไปศึกษากรณีศึกษากลุ่ม/องค์กรวิสาหกิจชุมชน กลุ่มผลิตน้ำจุลินทรีย์ชีวภาพ ตั้งอยู่ที่หมู่ 1 ตำบลบางรัก เราก็ต้องศึกษาและนำมาเขียนอย่างละเอียดว่า ประวัติความเป็นมา การก่อตั้ง แรงบันดาลใจ ผู้ก่อตั้ง สมาชิก รายได้ การตลาด การบริหารจัดการปัจจุบัน ประโยชน์ ปัญหา อุปสรรคของกลุ่ม เป็นต้น  เราต้องไปศึกษาอย่างละเอียด เพื่อให้ผู้ฟัง หรือผู้อ่านเข้า “เข้าถึง”   เราต้องสนใจกลุ่ม องค์กร อย่าไปสนใจสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ของกลุ่มเรื่องเดียว ไปอธิบายเรื่องจุลินทรีย์อย่างละเอียด ตั้งแต่กลุ่มเริ่มก่อตั้งเมื่อไร ใครบริหาร มีสมาชิกกี่คน หากไม่ได้เขียนมาเลย  เช่นนี้ ถือว่าไม่เข้าถึง หรือไม่เพียงพอจะให้คนเข้าใจได้
คำว่า พัฒนา หมายถึง เราสามารถบอกได้ว่า กลุ่มนี้ มีปัญหาอุปสรรคการทำงานอย่างไร ควรจะพัฒนาปรับปรุงอะไรบ้าง เพื่อให้เกิดการเจริญก้าวหน้ามากกว่านี้อีก
ประเด็นเข้าใจ กับพัฒนาอาจจะไม่ยาวมากนัก แต่ประเด็นเข้าใจ ควรจะต้องยาวหลายหน้า อาจจะมีภาพแสดงประกอบด้วย
การเขียนรายงานส่ง ต้องเปรียบเหมือนการสอบ  จึงไม่จำเป็นต้องการมีการสอบอีก การสอบแบบวัดความจำ เราคิดว่ามีประโยชน์น้อย อย่างที่เคยอธิบาย เราเน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันมากกว่า

6 ความคิดเห็น:

  1. ขอแสดงความชื่นชมยินดีอย่างยิ่ง กับ มหาวิชชาลัยภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่น และท่าน ดร.ศักดิ์ ประสานดี ที่ได้ทำงานเต็มและตรงกับอุดมคติชีวิตของท่าน มา ณ โอกาสนี้ ผมเองยินดีมาเป็น "ศิลปาจารย์"ให้เต็มที่ หากท่านเรียนเชิญ
    ดร.เอกภพ เหล่าลาภะ ประธานสถาบันพัฒนาผู้นำต้นแบบ มหาพุทธสิกขาลัย
    โทร.085-9898519 leadershipmodel@gmail.com

    ตอบลบ
  2. ขอแสดงความยินดีเป็นอย่างยิ่ง เป็นสิ่งที่มีคุณูปการแก่สังคม เกิดคุณค่ากับสังคม ศูนย์เรียนรู้วิถีอิสลามยั่งยืนบ้านนา จักขอคำปรึกษา และขออนุญาตนำความรู้ไปประยุกต์ใช่กับแนวทางวิอิสลามเพื่อส่งเสริมสังคมพหุวัฒนธรรม

    ตอบลบ
  3. แล้วเราจะสมัครเรียนอย่างไร

    ตอบลบ
  4. ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ

    ตอบลบ
  5. แล้วเราจะสมัครเรียนอย่างไร

    ตอบลบ
  6. สนใจสมัครเรียนคะ

    ตอบลบ